กท. วัฒนธรรม จัดยิ่งใหญ่ “เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2561” ชมฟรี ทุกเรื่อง ทุกรอบ

กท. วัฒนธรรม จัดยิ่งใหญ่ “เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2561”

ฉลองครบรอบ 51 ปี การก่อตั้งประชาคมอาเซียน สานสัมพันธ์เพื่อนบ้าน

คัดสรรภาพยนตร์คุณภาพ ชมฟรี ทุกเรื่อง ทุกรอบ

เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2561

กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เดินหน้าสานต่อความสำเร็จต่อเนื่องจัด
“เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2561 (BANGKOK ASEAN FILM FESTIVAL 2018)” ครั้งที่ 4 เนื่องในโอกาสพิเศษครบรอบ 51 ปี การก่อตั้งประชาคมอาเซียน พร้อมสานสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน คัดสรรภาพยนตร์คุณภาพเยี่ยมกว่า 13 เรื่องจาก 7 ประเทศสมาชิกในกลุ่มประชาคมอาเซียนมาให้ประชาชนเลือกชม โดยจัดฉายฟรี ทุกเรื่อง ทุกรอบ ระหว่างวันที่  5-8 กรกฏาคม 2561 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 

โดยภาพยนตร์เปิดเทศกาลเริ่มที่ “EULLENIA” ภาพยนตร์ผลงานกำกับโดย “พอล สปาเรีย” นำแสดงโดยนักแสดงผู้มากความสามารถ “ปู-วิทยา ปานศรีงาม” นำเสนอเรื่องราวของ มาร์คัส แฮมมอนด์ เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันการเงิน  EULLENIA ซึ่งตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  สถาบันการเงินEULLENIA มีความเชี่ยวชาญในด้านไมโครไฟแนนซ์ และการปล่อยเงินกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อย  การเติบโตอย่างรวดเร็วของEULLENIA ทำให้แฮมมอนด์กลายเป็นอภิมหาเศรษฐี แต่แฮมมอนด์มีความลับ เขามีความปรารถนาอันดำมืดที่อาจทำลายอาณาจักรของเขาให้พังพินาศ แฮมมอนด์ไม่ได้สนใจเครื่องบินเจ๊ท เรือยอร์ช หรือนางแบบซูเปอร์โมเดล แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่เขาต้องการที่จะซื้อคืออะไร สามารถติดตามได้ใน EULLENIA โดยภาพยนตร์เรื่องนี้จะฉายในวันเปิดเทศกาลที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 ที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เท่านั้น

และเพื่อสนับสนุนภาพยนตร์อาเซียนให้โดดเด่นบนเวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ทางเทศกาลได้ให้ความสำคัญกับการประกวดภาพยนตร์อาเซียน โดยคัดเลือกหนังอาเซียนที่โดดเด่นมา 10 เรื่อง เพื่อร่วมประกวดและชิงรางวัล 2 รางวัล คือ 1. รางวัล Best ASEAN Film โดยผู้ชนะรางวัลนี้จะได้โล่รางวัล และเงินสด 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ  2. Jury Prize โดยผู้ชนะรางวัลนี้จะได้โล่รางวัล และเงินสด 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ

โดยคณะกรรมการตัดสิน คือ ผู้ทรงคุณวุฒิทางภาพยนตร์จากนานาชาติ 3 ท่าน ได้แก่ Yoshi YATABE ผู้อำนวยการฝ่ายคัดเลือกภาพยนตร์ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, Kiki Fung  โปรแกรมเมอร์ภาพยนตร์จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองฮ่องกง (HKIFF) และ อาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์, อาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์ และกรรมการบริหารของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

Nervous Translation

เริ่มต้นที่  “Nervous Translation” ภาพยนตร์ดราม่าจากประเทศฟิลิปปินส์ที่กวาดรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมามากมาย เล่าเรื่องราวในช่วงปลายปี 1988 ในฟิลิปปินส์ยุคหลังเผด็จการมาร์กอส ยาเอล เด็กหญิงวัยแปดขวบซึ่งขี้อายมาก ใช้เวลาอยู่ในโลกของตัวเธอเอง เธอต้องอยู่ตัวคนเดียวขณะที่แม่ของเธอต้องไปทำงานในโรงงานทำรองเท้า และต้องทำอาหารกินเอง โดยที่ลืมไปว่ามีอาหารเหลือๆอยู่ในตู้เย็น ในตอนเย็น เธอถอนผมหงอกให้แม่แลกกับเงินเส้นละ 25 เซนตาวอส ขณะที่แม่กำลังดูละครน้ำเน่าทางทีวี ยาเอลรู้จักพ่อของเธอผ่านเสียงของเขาที่อัดใส่เทปส่งมาจากซาอุดิอาราเบียเป็นครั้งคราว เครื่องเล่นเทปของเธอชอบกินเนื้อเทป แต่ยาเอลก็ยังแอบฟังเสียงของพ่อเธออยู่เสมอ คืนหนึ่ง โดยไม่ตั้งใจ เธอได้อัดเสียงของเธอทับเสียงในเทปที่เป็นข้อความสำหรับแม่ของเธอ

 “GUANG” ภาพยนตร์ดราม่าจากประเทศมาเลเซีย เรื่องราวของสองพี่น้อง พี่คนโต เหวินกวงเป็นออทิสติคและสมาธิสั้น ซึ่งทำให้มีปัญหาในการเข้าสังคม แม้ว่าน้องชายของเขาจะพยายามหางานให้เขาทำ แต่เขาก็มีปัญหาในการสัมภาษณ์งานและตกสัมภาษณ์อยู่เสมอ น้องชายของเขาทั้งโกรธและสิ้นหวัง จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้ยินเสียงดนตรีดังมาจากห้องของเหวินกวง เขาเปิดประตูไปและได้เห็นถึงพรสวรรค์ทางดนตรีของน้องชายของเขา

“GUANG” ภาพยนตร์ดราม่าจากประเทศมาเลเซีย เรื่องราวของสองพี่น้อง พี่คนโต เหวินกวงเป็นออทิสติคและสมาธิสั้น ซึ่งทำให้มีปัญหาในการเข้าสังคม แม้ว่าน้องชายของเขาจะพยายามหางานให้เขาทำ แต่เขาก็มีปัญหาในการสัมภาษณ์งานและตกสัมภาษณ์อยู่เสมอ น้องชายของเขาทั้งโกรธและสิ้นหวัง จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้ยินเสียงดนตรีดังมาจากห้องของเหวินกวง เขาเปิดประตูไปและได้เห็นถึงพรสวรรค์ทางดนตรีของน้องชายของเขา

“In the Life of Music”

“In the Life of Music” ภาพยนตร์ดราม่าจากประเทศกัมพูชา นำเสนอเรื่องราวอันทรงพลังของคนหลากรุ่นที่สำรวจถึงความรัก สงคราม และความสัมพันธ์ในครอบครัวผ่านบทเพลงจำปาพระตะบอง อันเป็นบทเพลงดังของสิน สีสมุทร ราชาแห่งเพลงกัมพูชา โดยภาพยนตร์ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในสามทศวรรษ ที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตของผู้คนที่โลกของพวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยการปรากฏตัวของระบอบเขมรแดง

 “Night Bus”

“Night Bus” ภาพยนตร์ระทึกขวัญจากประเทศอินโดนีเซีย เรื่องราวของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่นั่งรถบัสไปซัมปาร์ โดยที่นั่นทหารของรัฐบาลกำลังต่อสู้อยู่กับกองกำลังกบฏที่ต้องการประกาศเอกราช ซึ่งคนบนรถต่างมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป แต่พวกเขาไม่ได้คาดคิดว่าจะมีคนที่แอบขึ้นรถมาด้วย โดยมีจุดประสงค์เพื่อประกาศข้อความเพื่อยุติความขัดแย้งในท้องที่ การปรากฏตัวของเขาทำให้ผู้โดยสารทุกคนตกอยู่ในอันตราย เพราะเขาเป็นที่ต้องการตัว ทั้งจับเป็นหรือจับตายจากทั้งสองฝ่าย

Passage of Life

“Passage of Life” ภาพยนตร์ดราม่าร่วมทุนระหว่างประเทศพม่าและญี่ปุ่น เรื่องราวของครอบครัวชาวพม่าครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นกับลูกชายสองคนที่พูดภาษาพม่าไม่ได้และใช้ชีวิตแบบเด็กญี่ปุ่น แม่ของพวกเขาอยากกลับไปพม่า แต่พ่อไม่สามารถทิ้งงานที่ญี่ปุ่นไปได้  แต่แล้ววันหนึ่งพวกเขาก็ได้รับจดหมายที่จะเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาตลอดไป

 “Shuttle Life”

 “Shuttle Life” ภาพยนตร์ดราม่าจากประเทศมาเลเซียที่ชนะ 3 รางวัล คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และภาพถ่ายยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ปี 2017 เรื่องราวของ อาเฉียงชายหนุ่มผู้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่กับแม่ที่มีอาการทางจิตและฮุย น้องสาวอายุ 5 ขวบ เมื่อฮุยตายในอุบัติเหตุ อาเฉียงพยายามพาร่างของเธอกลับบ้าน แต่เขากลับพบอุปสรรคเมื่อเขาไม่สามารถยืนยันได้ว่าฮุยเป็นน้องสาวของเขาเพราะตอนที่ฮุยเกิดมานั้นไม่ได้มีการแจ้งเกิด เมื่อแม่ของเขาไม่สามารถช่วยอะไรได้ อาเฉียงจึงต้องพยายามตามลำพัง

The Ashes and Ghosts of Tayug 1931

“The Ashes and Ghosts of Tayug 1931” ภาพยนตร์ดราม่าจากประเทศฟิลิปปินส์ เล่าเรื่องราวของคนทำหนังที่เดินทางกลับไปเยี่ยมเมืองทายุก ในพันกาซินาน เพื่อเตรียมทำหนังเรื่องใหม่ของเธอที่เกี่ยวกับ เปโดร คาโลซ่า วีรบุรุษของพื้นที่นั้น และการจลาจลทายุก ในปี  1931 ขณะที่เธอได้ไปยังสถานที่ที่เกิดเหตุจลาจล เธอได้จินตนาการถึงฉากในหนังเรื่องใหม่ของเธอ ยิ่งเธอค้นคว้าลึกลงไปมากเท่าใด เธอก็ได้พบกับความทรงจำของชาวเมืองถึงเปโดร คาโลซ่า และการจลาจลทายุกในปี 1931

THE SEEN AND UNSEEN

“THE SEEN AND UNSEEN” ภาพยนตร์ร่วมทุนระหว่าง 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย, เนเธอร์แลนด์, ออสเตรเลีย และ กาตาร์ เรื่องราวของ ตันตริ เด็กหญิงวัย 10 ขวบรู้ตัวว่าเธอจะได้ใช้เวลาอีกไม่นานนักกับตันตระ น้องชายฝาแฝดของเธอ สมองของตันตระอ่อนแอลงและเขาเริ่มไม่รู้สึกตัว ตันตริมักฝันเห็นตันตระและตื่นขึ้นมาในเวลากลางดึก ยามกลางคืนกลายเป็นช่วงเวลาที่เด็กสองคนเล่นกัน ภายใต้แสงจันทร์เต็มดวง ตันตริร่ายระบำสะท้อนถึงบ้านและความรู้สึกของเธอเมื่อแสงจันทร์เลือนหายและแสงตะวันเข้ามาแทนที่ ก็เช่นเดียวกับตันตระและตันตริ ตันตริได้สัมผัสถึงการเดินทางอันน่าอัศจรรย์และความผูกพันทางใจผ่านทางการแสดงออกทางร่างกาย ระหว่างความจริงกับจินตนาการ และความหวังกับความสิ้นหวัง

Their Remaining Journey

“Their Remaining Journey” ภาพยนตร์ดราม่าร่วมทุนระหว่าง 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกา และ ไต้หวัน เรื่องราวของวิญญาณของนางเอกละครเวทีที่ตายไปแล้วต้องติดอยู่กับครอบครัวของคนแปลกหน้าระหว่างกำลังรอจะไปเกิดใหม่ เธอได้เฝ้าดูชีวิตของคนอื่นรวมถึงความสูญเสียของครอบครัวของเธอเอง

เณรกระโดดกำแพง

และปิดท้ายที่ภาพยนตร์จากประเทศไทย “เณรกระโดดกำแพง” ผลงานของบุญส่ง นาคภู่ เรื่องราวของผู้กำกับภาพยนตร์ผู้ดื้อรั้น ได้พบเจอสิ่งต่างๆ มากมาย ในระหว่างการเดินทางสำรวจโลเกชั่นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดทั้งความจริงที่เห็นอยู่ตรงหน้า ความจริงที่ผ่านมา ความฝัน สิ่งที่อยากให้เป็น รวมทั้ง ด้านมืดอันเร้นลับที่เขาพยายามปกปิด และหนีมาตลอด บัดนี้ ทุกอย่างได้ย้อนกลับมารุมเล่นงานเขาจนสะบักสะบอมแทบจะเอาตัวไม่รอด บุญส่งแสดงเป็นบุญส่ง ลูกชายของบุญส่งแสดงเป็นบุญส่งตอนเด็ก แม่ของบุญส่งก็แสดงเป็นแม่ของบุญส่ง อีกครั้งที่บุญส่ง นาคภู่ ได้พยายาท้าทายขนบของการเล่าเรื่อง แบบข้ามไปมาระหว่างสารคดี และเรื่องแต่ง

นอกจากนี้ทางเทศกาลเห็นถึงความสำคัญของผลงานของบรมครูระดับตำนาน ในสาย “อาเซียน คลาสสิก (ASEAN Classic)” จึงมีหนังชั้นเยี่ยมถึง 3 เรื่องให้ชมกัน อาทิ “Kakabakaba Ka Ba?” จากประเทศฟิลิปปินส์ , “MeePok Man” จากประเทศสิงคโปร์ และ “สวรรค์มืด” จากประเทศไทย

สำหรับ“เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2561 (BANGKOK ASEAN FILM FESTIVAL 2018)” จะจัดฉายพร้อมบทบรรยายภาษาไทย-อังกฤษ ฟรี ทุกเรื่องทุกรอบ ระหว่างวันที่ 5-8 กรกฏาคม 2561 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนจองบัตรชมภาพยนตร์ล่วงหน้าได้ที่ www.facebook.com/BangkokAseanFilmFestival ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป และรับบัตรชมภาพยนตร์ได้ที่จุดประชาสัมพันธ์เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2561 บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ก่อนรอบฉาย 30 นาที (1ท่านต่อ1ที่นั่ง) ผู้สนใจสามารถตรวจสอบรอบฉาย และ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02-643-9100 และ www.facebook.com/BangkokAseanFilmFestival

Facebook Comments
ติดต่อ Maganetthailand.com
Don`t copy text!