สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี “ประชากรและสังคม 2565” ครั้งที่ 16 เมื่อวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ภายใต้หัวเรื่อง “โควิด-19: การฟื้นตัวและโอกาสของประชากรและสังคม (COVID–19: Resilience and Opportunity of Population and Society)” ในรูปแบบ hybrid conference ณ อาคารประชาสังคมอุดมพัฒน์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผ่านโปรแกรม Zoom มีนักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา ผู้แทนภาคประชาสังคมและหน่วยงานกำหนดนโยบายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยด้านประชากรและสังคมเข้าร่วมกว่า 350 คน
การประชุมเริ่มต้นด้วยเวทีเสวนาโดยวิทยากรรับเชิญซึ่งเป็นผู้แทนหน่วยงานการวิจัยระดับชาติ ในหัวข้อ “จุดเน้นการวิจัยด้านประชากรและสังคมหลังโควิด-19” ประกอบด้วย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดร. ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร. ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ ผศ. ดร. แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยในเวทีเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง และความคิดเห็นต่อ “ทิศทาง” “จุดเน้น” หรือ “ประเด็น” งานวิจัยด้านประชากร สังคมและสุขภาพ ที่ควรให้ความสำคัญ มีความจำเป็น และน่าสนใจสำหรับสังคมไทยในระยะต่อจากนี้ที่โควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น
ช่วงถัดมาเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยโดยคณาจารย์และนักวิจัยของสถาบันฯ จำนวน 6 หัวข้อจาก 6 กลุ่มงานวิจัย ประกอบด้วย หนึ่ง “ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคมไทย” ซึ่งเป็นการฉายภาพการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคมไทยในสถานการณ์ที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ต่อปีมีน้อยกว่าจำนวนคนตาย และสภาพสังคมที่ถูกกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่ต้องปรับตัวและปรับพฤติกรรมรับมือป้องกันการติดเชื้อ การปรับรูปแบบการเรียนรู้จากออนไซด์ไปเป็นออนไลน์ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปยังพฤติกรรมสุขภาพ เรื่องกิจกรรมทางกาย การเล่นของเด็ก การใช้เวลาหน้าจอ และการนอนหลับ รวมถึงปัญหาความเครียด ความวิตกกังวลและซึมเศร้า ซึ่งทำให้การพัฒนาระบบและบริการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งขึ้น
สอง “มิติเพศ: มุมมองจากงานวิจัยในช่วงสถานการณ์โควิด-19“ นำเสนอผลการสำรวจผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของเยาวชนไทย และ การศึกษาเรื่องอัตลักษณ์และรูปแบบของความหลากหลายทางเพศ และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อน ความละเอียดอ่อน รวมถึงความหลากหลายของมิติเรื่องเพศในสังคมไทย ที่ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรต้องเพิ่มความเข้าใจและให้ความสำคัญ รวมถึงยอมรับข้อเท็จจริงในลักษณะของความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่ของประชากรในสังคมไทย
สาม “ความเป็นธรรมกับสังคมสูงวัยไทยในยุคโควิด-19” เป็นการนำเสนอมิติความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพของผู้สูงอายุไทยในด้านต่างๆ ซึ่งได้จากการศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปัญหาและความท้าทายในการเข้าถึงบริการทางสังคมของผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวซึ่งอาจจะกลายเป็นอีกเงื่อนไขปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในประชากรสูงอายุในอนาคต การเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือภาครัฐของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่พบว่าการแบ่งแยกทางดิจิตอล (digital divide) กลายเป็นเงื่อนไขของความไม่เท่าเทียม สถานการณ์การเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุของคนวัยแรงงาน ในด้านสุขภาพ ด้านการเงิน รวมถึงการแสดงชีวเจตน์ ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้น ปิดท้ายด้วยการศึกษาเชิงประจักษ์จากเวียดนามที่พบว่าการลงทุนด้านการศึกษาของบุตรเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดโอกาสการถูกทารุณกรรมของพ่อแม่เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
สี่ “นโยบายการย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากร“(replacement migration) นำเสนอประเด็นวิเคราะห์สถานการณ์ทางประชากรของไทยที่เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ จำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลง ขณะที่กำลังแรงงานจะขาดแคลนเพิ่มขึ้น ทำให้การบริหารจัดการด้านการย้ายถิ่น การให้ถิ่นที่อยู่ถาวรและการแปลงสัญชาติไทย โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เกิดและเติบโตในไทย กลุ่มผู้ลี้ภัยในเมือง แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบัน และการดำเนินนโยบายวีซ่าระยะยาวเพื่อดึงดูดแรงงานคนต่างชาติที่มีทักษะและศักยภาพสูงให้เข้ามาพำนักและทำงานระยะยาว น่าจะเป็นทิศทางนโยบายทางประชากรและทางเศรษฐกิจสังคมที่ควรมีการพิจารณาให้ความสำคัญ
ห้า “กิน อยู่ ขยับร่างกาย: ชีวิตวิถีใหม่ในยุคโควิด-19” สะท้อนสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและพฤติกรรมทางสุขภาพของคนไทยในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ความสุขและคุณภาพชีวิตของคนทำงานในมิติต่างๆ โดยเฉพาะสุขภาพกาย การผ่อนคลายและสุขภาพการเงิน รวมถึง อาการการกินและความเสี่ยงของประชากรในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผลกระทบเหล่านี้ พบว่า ขยายภาพช่องว่างและความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยให้ยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น การสร้างบรรทัดฐานสังคมที่ไม่เหนื่อยนิ่ง (active society) และการพัฒนานโยบายอาหารของประเทศที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนควรมีบทบาทนำร่วมกัน
หก “การปรับตัวในระเบียบวิธีวิจัยด้านสังคมศาสตร์ในยุคโควิด-19” เสนอประเด็นความท้าทายในการดำเนินการวิจัยด้านประชากรและสังคมในช่วงโควิด-19 ซึ่งนำไปสู่การปรับตัวของนักวิจัยในกระบวนการและระเบียบวิธี โดยเฉพาะวิธีการเข้าถึงประชากรกลุ่มเป้าหมายของการวิจัย จุดแข็งและข้อจำกัดการเก็บข้อมูลรูปแบบใหม่ๆ จากตัวช่วยเทคโนโลยีและช่องทางออนไลน์ รวมถึง แนวทางการร่วมมือกับนักวิจัยในพื้นที่ นอกจากระเบียบวิธีที่ต้องปรับตัว ประเด็นการวิจัยก็ต้องปรับเปลี่ยน โดยในส่วนนี้นำเสนอ 2 กรณีศึกษางานวิจัยเพื่อแสดงระเบียบวิธีวิจัยในการศึกษาประเด็นเร่งด่วน ในเรื่องทางเลือกรูปแบบการทำวิจัยการวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลด้วยโปรแกรม OneHealth Tool และการวิเคราะห์โดยวิธีแยกส่วนประกอบ (decomposition analysis)
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด เอกสารรวมบทสรุปงานวิจัย (Research Brief Booklet) ทั้ง 6 เรื่องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้ที่เว็บไซต์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล https://ipsr.mahidol.ac.th/