พร้อม ‘รีโมท คอนโทรล’ ที่หมอ 1 คนสามารถควบคุมสูง 20 เครื่อง
ผ่านระบบรักษาความปลอดภัย 3 ชั้น ขานรับการรักษาแพทย์ทางไกล!
สจล. เดินหน้าผลิต “เครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow” เพื่อแจกจ่ายโรงพยาบาลอีกกว่า 400 แห่งทั่วไทยในสองสัปดาห์ !
กรุงเทพฯ 9 สิงหาคม 2564 – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยฟีเจอร์เครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow ที่มาพร้อม ‘รีโมท คอนโทรล’ (Remote Control) ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ 1 คนสามารถควบคุมเครื่องฯ ได้สูงถึง 20 เครื่อง ในการเฝ้าระวังและติดตามอาการผู้ป่วยแบบทางไกลได้ตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวภายในโรงพยาบาล โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยสูง ได้เดินทางถึงโรงพยาบาลสิรินธร พร้อมใช้จริงกับผู้ป่วยโควิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และภายในสองสัปดาห์นี้ สจล. จะเร่งผลิตเพื่อแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลทั่วไทยกว่า 400 แห่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมด้านเทคนิค รวมถึงโรงพยาบาลที่ประสงค์จะขอรับเครื่องออกซิเจน High Flow ติดต่อ สำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) โทร. 085-382-0960, 086-825-5420 หรือไลน์ไอดี @kmitlfightcovid19
ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ สจล. ได้ที่ https://www.facebook.com/kmitlofficial และ http://kmitl.ac.th
ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า แพทย์ทางไกล หรือ เทเลเมดิซีน (Tele Medicine) ได้เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นสำหรับการรักษาหรือติดตามอาการผู้ป่วยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคม พร้อมกับพยุงอาการของผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งสอดคล้องกับผลงานวิจัยล่าสุดของ สจล. ที่ได้พัฒนา “เครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow” เครื่องจ่ายออกซิเจนในอัตราการไหลสูง มาพร้อมฟีเจอร์ “รีโมท คอนโทรล” (Remote Control) ที่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ 1 คนสามารถควบคุมเครื่องฯ ได้สูงถึง 20 เครื่อง เพื่อเฝ้าระวังและติดตามอาการผู้ป่วยแบบทางไกลได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยนำร่องใช้เพื่อดูแล ‘ผู้ป่วยระดับสีเหลือง’ ที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ เครื่องดังกล่าวยังมาพร้อมเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Fingertip Pulse Oximeter) และระบบแจ้งเตือน (Alert) เมื่อผู้ป่วยมีภาวะออกซิเจนต่ำเกินไป
ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยในการควบคุมการทำงานของเครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow ภายใต้รีโมท 1 เครื่องนั้น โดยเบื้องต้นทีมวิจัยสามารถกำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถควบคุมเครื่องจ่ายออกซิเจนได้สูงสุดที่ 20 เครื่อง เพื่อการป้องกันความผิดพลาดจากการกำหนดอัตราไหลเวียนอากาศ ความเข้มข้นของออกซิเจนที่ต้องการ ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ก่อนปล่อยผ่านทางจมูกผู้ป่วย (Nasal Cannula) ได้อย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับอากาศที่มีความเข้มข้นของออกซิเจนที่แน่นอน ถูกต้อง ป้องกันการหายใจซ้ำจากอากาศที่ค้างอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานเครื่องจ่ายออกซิเจนอัตราการไหลสูง
ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าว มีต้นทุนการพัฒนาที่ 55,000 บาท ซึ่งถูกกว่าการนําเข้า 3-4 เท่า หรือประมาณ 200,000 – 300,000 บาท โดยล่าสุดภายหลังที่สถาบันฯ เปิดรับบริจาคเร่งด่วนนับตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคประชาชน จนมีกำลังการผลิตเครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow ได้เป็นจำนวนมาก และจะมีการทยอยส่งมอบไปยังโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโดยเร็ว ซึ่งล่าสุด สจล. ได้ดำเนินการส่งมอบเครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow ล็อตแรก ไปยังโรงพยาบาลสิรินธร พร้อมทั้งใช้งานจริงกับผู้ป่วยโควิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ สจล. ยังเตรียมผลิตเพื่อแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลทั่วไทยกว่า 400 แห่งให้แล้วเสร็จภายสองสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม เครื่องดังกล่าว อยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรสู่เชิงพาณิชย์กับสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRiS) ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้มีจิตศรัทธายังสามารถบริจาคเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง ชื่อบัญชี “มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ เพื่อสู้ภัยโควิด” เลขที่ 693-0-35455-4 โดยผู้บริจาคสามารถนําใบเสร็จไปขอลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมด้านเทคนิค รวมถึงโรงพยาบาลที่ประสงค์จะขอรับเครื่อง ติดต่อ สำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) โทร. 085-382-0960, 086-825-5420 หรือไลน์ไอดี @kmitlfightcovid19 ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ สจล. ได้ที่ https://www.facebook.com/kmitlofficial และ http://kmitl.ac.th
“เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” พร้อมระบบมอนิเตอร์ทางไกล
ชื่อผลงาน/นวัตกรรม | เครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow |
คณะวิจัย/ผู้ร่วมพัฒนาต้นแบบ | นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะแพทย์ศาสตร์ สจล. |
ผู้ผลิต | โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมสนับสนุนการผลิตโดยบริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต |
คำนิยามนวัตกรรม | เครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow เครื่องจ่ายออกซิเจนในอัตราการไหลสูงเป็นครั้งแรก ที่มาพร้อมระบบมอนิเตอร์ทางไกลได้ โดยที่บุคลากรทางการแพทย์ 1 คนสามารถควบคุมเครื่องฯ ได้สูงสุด 20 เครื่อง ผ่าน Remote Control |
แนวคิดการพัฒนา | ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ให้น้อยลง พยุงอาการผู้ป่วยโควิด ผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ที่มีภาวะการหายใจบกพร่องหรือการหายใจล้มเหลวลดภาระงานและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องเดินเข้า-ออกบริเวณหอผู้ป่วย ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในส่วนอื่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเน้นการออกแบบให้ ตอบโจทย์การใช้งานได้ทั้งในโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลเฉพาะทาง |
ขั้นตอนการใช้งาน | ต่ออุปกรณ์ต่างๆ เช่น สายท่อเติมน้ำ ท่อช่วยหายใจ ท่อออกซิเจน ให้เรียบร้อยเปิดเครื่อง พร้อมตั้งค่า flow, อุณหภูมิที่ต้องการเปิด flow ออกซิเจนเข้าพร้อมตามระดับที่ต้องการที่ปรากฎที่หน้าจอสามารถดูมอนิเตอร์ผ่านทางหน้าจอมือถือได้ศึกษาคู่มือให้ละเอียดก่อนการใช้งานและต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการนำไปใช้และการควบคุมดูแลของแพทย์ |
หลักการทำงาน | หลักการนำอากาศจากแหล่งกำเนิดออกซิเจน จะเป็นท่อนำออกซิเจนหรือแทงค์ออกซิเจน 100% มาผสมกับอากาศสะอาด (ออกซิเจน 21%) ในความเข้มข้นที่ต้องการในห้องผสมอากาศ (Air Tank) โดยหากใช้อากาศจากในหอผู้ป่วยก็จะมีแผ่นกรองอากาศ HEPA Filter เมื่ออากาศถูกดูดเข้าสู่ห้องผสมอากาศ จะมีการเปิดวาล์วจ่ายออกซิเจนที่ให้อัตราออกซิเจนที่เหมาะสมตามการรักษาเป็นไปตามการรักษา โดยปรับได้ในช่วง 21-100% ความแรงของพัดลมจะถูกควบคุมด้วยเซนเซอร์ ซึ่งจะถูกควบคุมให้อยู่ในช่วง 10-60 ลิตรต่อนาที และผ่านเข้าไปยังเครื่อง Heated Humidifier นอกจากนี้ ค่าพารามิเตอร์ดังกล่าว สามารถตั้งค่าได้ทั้งทางหน้าจอแอลซีดี (LCD) แบบสัมผัส (Touch Screen) และมี option ในการต่อผ่านแอปฯ ผ่านการเชื่อมต่อด้วยระบบ Wi-Fi ได้ด้วยหากต้องการดูข้อมูลระยะไกล |
คุณลักษณะของเครื่อง (Spec) | ปรับอัตราการไหลอากาศในช่วง 10-60 ลิตรต่อนาทีปรับเปอร์เซ็นต์ออกซิเจนได้ 21-100%มี option ต่อสาย SAT วัดปริมาณออกซิเจนในเลือด (SpO2) ผ่าน Oximeterมีการแจ้งเตือนระดับน้ำในหม้อน้ำแห้ง (Chamber)มีระบบ HEPA Filter และ Bacteria Filterสามารถควบคุมได้ผ่านจอ Touch Screen มี option ในการควบคุมและมอนิเตอร์จากระยะไกลได้ด้วย Mobile Application สามารถอุ่นอากาศให้เหมาะสมในช่วง 31-38 องศาเซลเซียส |
ต้นทุนการพัฒนา | ต้นทุนการพัฒนา 55,000 บาท ถูกกว่าการนําเข้า 3-4 เท่า หรือประมาณ 200,000 – 300,000 บาท (โดยอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรสู่เชิงพาณิชย์กับสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRiS)) |
ช่องทางการสนับสนุนการผลิต | บัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี “มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ เพื่อสู้ภัยโควิด” เลขที่ 693-0-35455-4 (สามารถนําใบเสร็จไปขอลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า) |
ช่องทางการติดต่อ | สอบถามข้อมูลเชิงเทคนิค หรือ โรงพยาบาลที่ประสงค์ขอรับเครื่องฯ • สำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) • โทร. 085-382-0960, 086-825-5420 • Line ID: @kmitlfightcovid19 |
ข้อมูลเพิ่มเติม ข้อแตกต่างระหว่าง เครื่องช่วยหายใจ กับ เครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow
เครื่องจ่ายออกซิเจน high flow เหมาะสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองที่ยังสามารถหายใจเองได้ แต่ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 95 ซึ่งเครื่องที่พระจอมเกล้าลาดกระบังพัฒนาขึ้นมา ยังเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันบนมือถือได้ ไม่ว่าคุณหมอจะอยู่ที่ไหนก็สังเกตุอาการ และ Monitor ออกซิเจนได้ด้วยโทรศัพท์เพียง 1 เครื่องของคุณหมอ ขณะที่ เครื่องช่วยหายใจ เหมาะกับผู้ป่วยสีแดง คือ เชื้อลงปอดแล้ว จนไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้แล้ว ต้องบีบอัดลมเข้าปอดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายใจ