เปิดหัวใจเสาหลักอาจารย์พยาบาล กับบทบาทการทำงานอย่างทุ่มเทภายใต้ชุดสีขาว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกต้องทำงานอย่างหนักเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว หนึ่งในนั้นคือพยาบาลที่ถือเป็นอีกเสาหลักในการต่อสู้เคียงข้างผู้ป่วยอย่างไม่ย่อท้อ เพราะต้องทำงานคลุกคลีอยู่กับสถานการณ์บีบคั้นของคนไข้ที่มียอดทะลุหลักหมื่นทุกวันในช่วงที่ผ่านมาตลอด 24 ชม. แม้ตอนนี้ยอดผู้ป่วยจะลดลงแล้ว แต่การทำงานของทีมพยาบาลยังคงต้องขับเคลื่อนต่อไปและด้วยบทบาทหน้าที่ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงด้านสุขภาพและการทำงานที่ต้องดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยและครอบครัว จึงทำให้อาชีพพยาบาลเป็นอีกหนึ่งงานที่ผู้ทำต้องมีใจรักและทุ่มเท  จากภาพเบื้องหน้าที่เห็นจนชินตาว่าพยาบาลคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด แต่เบื้องหลังการทำงานหนักของพยาบาลนั้น มีแรงบันดาลใจอย่างไรบ้าง รศ.ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ และ ผศ.ดร.นรีมาลย์ นีละไพจิตร สองอาจารย์พยาบาล ที่สั่งสมประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ณ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จะเป็นผู้เปิดเผยให้ฟังในบทความนี้

เพราะใจรักในการช่วยเหลือผู้อื่น

รศ.ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์

รศ.ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ตนชื่นชอบการทำกิจกรรมมาตั้งแต่เด็กๆ และชอบช่วยเหลือผู้อื่น พอตอนที่จะต้องเลือกเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็มีความตั้งใจอยากจะทำอาชีพที่ได้ช่วยเหลือผู้คน จึงเลือกเรียนพยาบาล เมื่อเรียนจบจึงได้เลือกมาดูแลคนไข้สามัญ เพื่อที่จะได้ช่วยผู้ป่วยยากไร้ได้ตามความตั้งใจ”

จากเบื้องหน้าสู่เบื้องหลังแห่งการผลักดัน

จากเบื้องหน้าสู่เบื้องหลังแห่งการผลักดัน

“หลังจากทำงานเป็นพยาบาลได้ระยะหนึ่ง ก็มีอาจารย์พยาบาลจากโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ได้ชักชวนให้มาเป็นอาจารย์พยาบาล ตอนแรกก็ลังเล เพราะชอบการทำงานที่ได้อยู่กับคนไข้มากกว่า แต่คิดว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะการเป็นอาจารย์คือการช่วยผลักดันพยาบาลรุ่นใหม่ให้ออกไปดูแลผู้ป่วยต่อไป จึงตัดสินใจรับโอกาสนั้น ช่วงที่เป็นอาจารย์ ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พอกลับมาจึงนำเอาความรู้ที่เรียนมาเปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต (อินเตอร์เนชั่นแนล) ที่สามารถรับนักศึกษาจากหลากหลายประเทศได้ เช่น พม่า เวียดนาม เนปาล อินโดนีเซีย เป็นต้น หลังจากนั้นก็ย้ายมารับตำแหน่งเป็นรองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงริเริ่มให้พยาบาลได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ทางด้านสุขภาพสู่ประชาชน ผ่าน Rama Channel, YouTube Organization, Line Official ต่างๆ เพื่อให้เนื้อหาด้านสุขภาพเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น”

พยาบาลนักสร้างสรรค์

พยาบาลนักสร้างสรรค์

ช่วงแรกที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นช่วงที่ประชาชนมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นจำนวนมาก เพราะอยากจะตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งประชาชนที่เข้ามามีคำถามเป็นจำนวนมาก และมักจะเป็นคำถามที่ซ้ำๆ กัน จึงมีความคิดว่าน่าจะส่งต่อความรู้ไปถึงประชาชน ดีกว่าให้ประชาชนเดินเข้ามาในโรงพยาบาล จึงได้จัดทำ Covid-19 Call Center ซึ่งเป็นสายด่วนให้ความรู้เรื่องโควิด-19 และเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการตอบคำถามโดย ทีมอาจารย์พยาบาล เพื่อตอบคำถามและให้ความรู้กับประชาชน ต่อมาพอสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มรุนแรงและยาวนานขึ้น ผู้คนก็มีความเครียดสะสมเพิ่มขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากเรื่องเศรษฐกิจและสุขภาพ  จึงได้เสนอให้อาจารย์ทางด้านจิตเวช และสุขภาพจิตมาช่วยดูแลตอบคำถาม โดยเฉพาะปัญหาทางด้านจิตใจ ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่างานของพยาบาลยุคใหม่ไม่ใช่แค่การดูแลสุขภาพกายผู้ป่วยเท่านั้น แต่ต้องดูแลไปถึงสุขภาพใจด้วยเช่นกัน” รศ.ดร.พูลสุข กล่าว

กว่าจะสวมหมวกขาว

ผศ.ดร.นรีมาลย์ นีละไพจิตร

ผศ.ดร.นรีมาลย์ นีละไพจิตร อาจารย์พยาบาล สาขาวิชาการพยาบาลสุขภาพชุมชน กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการก้าวสู่อาชีพพยาบาลว่า “ในวัยเด็กตนได้ดูละครเรื่อง ‘กว่าจะสวมหมวกขาว’ จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ตนอยากมาเป็น พยาบาล หลังจากเรียนจบก็ได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปช่วยดูแลผู้ป่วยในชุมชนต่างๆ ทั้งการทำกิจกรรมร่วมกับสมาคมแพทย์มุสลิม  เป็นจิตอาสา และการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้มากที่สุด จึงเลือกเรียนเพิ่มเติมด้านสาธารณสุขและตัดสินใจมาทำงานที่ ‘หน่วยบริการส่งเสริมสุขภาพและเยี่ยมบ้าน’  เพื่อสานต่อความตั้งใจอยากให้คนไทยเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพมากที่สุด จากนั้นได้ต่อยอดมาเป็นอาจารย์สาขาวิชาการดูแลสุขภาพชุมชนที่ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีในปัจจุบัน”

มรสุมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฐานะพยาบาล

“การทำงานในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ของบุคลากรทางการแพทย์ ทุกส่วนหนักขึ้นมากจริงๆ หากเทียบกับตอนที่ได้ออกพื้นที่ในชุมชนนั้น ยังสามารถจัดสรรเวลาในการออกไปทุกครั้งเท่าที่จำเป็นได้ หากวันไหนติดภารกิจก็จะมีทีมคนอื่นไปดูแลแทน แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ ไม่สามารถหยุดพักได้ และด้วยหน้าที่ที่ต้องดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยยิ่งทำให้ ต้องทุ่มเททำงานมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทั้งคนไข้และพยาบาล ก็ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งในการสู้ไปด้วยกัน” ผศ.ดร.นรีมาลย์ กล่าว

แม้ยอดผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่เรายังคงต้องเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย  ล้างมือให้บ่อย เพราะเราคงต้องอยู่กับสถานการณ์นี้ต่อไป โรคนี้ยังคงอยู่ และไม่มีใครรู้ว่าจะมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อใด แต่การปรับตัวและดูแลร่างกายให้แข็งแรง และสภาพจิตใจให้ดีก็เป็นอาวุธสำคัญที่จะทำให้เราก้าวต่อไปได้…

เพื่อสนับสนุนการผลิตบุคลากรการแพทย์ที่มีคุณภาพ ขอเชิญร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ “โครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” บริจาคออนไลน์ www.ramafoundation.or.th สอบถามโทร 02-201-1111

ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี “โครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์”
ธนาคารกสิกรไทย   เลขที่ 879-2-00448-3

ธนาคารกรุงเทพ     เลขที่ 090-3-50015-5

ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 026-3-05216-3

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 072-1-35991-0

Facebook Comments
ติดต่อ Maganetthailand.com
Don`t copy text!