THE CURRENT WAR สงครามไฟฟ้า คนขั้วอัจฉริยะ วันเข้าฉาย 18 กรกฎาคม 2562

“2 อัจฉริยะ 1 กระแสไฟ ที่จะพลิกโลกทั้งใบ”

THE CURRENT WAR
สงครามไฟฟ้า คนขั้วอัจฉริยะ
วันเข้าฉาย 18 กรกฎาคม 2562

ผู้กำกับ:                อัลฟองโซ โกเมซ-รีจอน (Me and Earl and the Dying Girl)

เขียนบท:              ไมเคิล มิทนิค (Vinyl)

ผู้อำนวยการสร้าง:            มาร์ติน สกอร์เซซี่  (The Wolf of Wall Street)

                                                ติมูร์ เบกแมมเบตอฟ (Wanted)

                                                สตีเว่น ซิลเลี่ยน (Moneyball)

                                                บาซิล อีวานิค (A Star is Born)

นักแสดง:          เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (Doctor Strange, The Imitation Game)

                          นิโคลัส โฮลท์ (Mad Max: Fury Road, X-Men: Days of Future Past)

                            ทอม ฮอลแลนด์ (Spider-Man: Homecoming)

                                ไมเคิล แชนนอน (Man of Steel)

                                แคทเธอรีน วอเตอร์สตัน (Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald)

เวลาฉาย: 105 นาที

นี่คือเรื่องราวมหากาพย์แห่งการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรมที่เป็นจุดเริ่มต้นของการนำพาแสงสว่างไปสู่ทั่วทั้งโลก เมื่ออัจฉริยะระดับตำนานอย่าง โทมัส อัลวา เอดิสัน (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์) และ จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ (ไมเคิล แชนนอน) ต้องเชือดเฉือนกันด้วยการพิสูจน์ว่า “ทฤษฎีกระแสไฟฟ้า” ของใครดีกว่ากัน ร่วมด้วยนักแสดงสมทบชั้นนำอย่าง ทอม ฮอลแลนด์ จาก Spider-Man: Homecoming และ แมทธิว แม็คฟาเดียน จาก The Three Musketeers

เรื่องย่อ :              

เมื่ออัจฉริยะนักประดิษฐ์ โทมัส อัลวา เอดิสัน (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์) และเจ้าพ่อนายทุนอย่าง เจพี มอร์แกน (แมทธิว แม็คฟาเดียน) จับมือกันเพื่อผลักดันการใช้ไฟฟ้ากระแสตรง (DC) พวกเขาต้องเผชิญกับการต่อต้านทฤษฎีจาก จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ (ไมเคิล แชนนอน) วิศวกร นักประดิษฐ์ และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้สนับสนุนทฤษฎีไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ผู้ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจาก นิโคลา เทสลา (นิโคลัส โฮลท์) อีกหนึ่งอัจฉริยะนักประดิษฐ์ผู้เกิดในยุคเดียวกันกับเอดิสัน เรื่องราวความขัดแย้งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามหักล้างทฤษฎีที่ก่อให้เกิดคุณูปการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วทั้งโลก

ตัวอย่างภาพยนตร์

“เอดิสัน ผู้ยิ่งใหญ่… ชายผู้คิดค้นศตวรรษที่ 20”
อี. แอล. ด็อกโทโรว, Ragtime

“ผมคงรู้สึกสบายใจหากสักวันหนึ่งมีคนพูดว่า ผลงานของผมถูกนำไปใช้ในสิ่งที่นำพาความสุขและความสะดวกสบายให้กับผู้คน”

จอร์จ เวสติงเฮาส์

SHORT SYNOPSIS

เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ นำแสดงในบทของ โทมัส เอดิสัน และ ไมเคิล แชนนอน ในบทของ จอร์จ เวสติงเฮาส์ “The Current War” คือ เรื่องราวการแข่งขันอันดุเดือดระหว่างสองนักประดิษฐ์อัจฉริยะ ในยุคบุกเบิกของระบบพลังงานกระแสไฟฟ้า เอดิสันนำพาแสงสว่างมาสู่เกาะแมนฮัตตันด้วยแรงสนับสนุนจากนายทุนใหญ่อย่าง เจ.พี. มอร์แกน แต่ทว่า นายทุนคู่แข่งอย่าง เวสติงเฮาส์ ก็ได้ชี้จุดบกพร่องของไฟฟ้ากระแสตรงที่เอดิสันคิดค้นด้วยความช่วยเหลือจากอีกหนึ่งนักประดิษฐ์อัจฉริยะ นิโคลา เทสลา พวกเขาจุดประกายสงครามของกระแสไฟฟ้าด้วยการนำเสนอไฟฟ้ากระแสสลับที่นิโคลาคิดค้นแม้ว่ามันจะเป็นพลังงานที่มีความอันตรายมากกว่าก็ตาม กำกับโดย อัลฟอนโซ่ โกเมซ เรฮอน (Me and Earl and the Dying Girl) เขียนบทโดย ไมเคิล มิทนิค (Sex Lives of Our Parents) ร่วมแสดงโดย แคทเธอรีน วอเตอร์สตัน, นิโคลัส โฮลท์, ทอม ฮอลแลนด์ และ แมทธิว แม็คฟาเดียน


LONG SYNOPSIS

ในฤดูหนาวปี 1880 รถไฟขบวนหนึ่งได้มุ่งหน้าจากนิวเจอร์ซีย์ไปยังกรุงนิวยอร์ก ภายในคืนรัตติกาลที่ความมืดมิดเข้าปกคลุม ภาพลักษณ์ของชายผู้หนึ่งได้ฉายให้เห็นผ่านแสงไฟอันริบหรี่ของซิการ์ เขาคือ โทมัส อัลวา เอดิสัน เพียงแค่ปลายนิ้วขยับ กระเปาะแก้วที่เรียงรายตามท้องถนนก็ได้เปล่งแสงออกมาทำลายความมืดมิด เขาได้กลายเป็นเสมือนพ่อมดแห่งเมนโลพาร์กที่พึ่งร่ายมหาเวทด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้ากระแสตรง

ภายในคฤหาสน์ที่ตั้งอยู่ประมาณ 300 ไมล์ ทางทิศตะวันตก นักลงทุนผู้มีชื่อเสียงอย่าง จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ ได้รับข่าวสารของเอดิสัน เขาอยู่ร่วมกับภรรยาของเขา มาร์กาเร็ต และหัวหน้าวิศวกรผู้จงรักภักดีอย่าง แฟรงคลิน โป้ป (คนรู้จักเก่าของเอดิสัน) เขาได้เชิญชวนเอดิสันให้มาร่วมรับประทานอาหารค่ำกับเขา

The Current War

ที่วอชิงตัน เอดิสันกำลังเตรียมตัวเชิญชวนและเกลี้ยกล่อมให้นักลงทุนชื่อดัง เจ.พี. มอร์แกน ร่วมสนับสนุนโปรเจกต์ของเขา แต่เขากลับพบว่าตัวเองได้มาอยู่ที่ทำเนียบขาวพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวและเลขาส่วนตัวเชื้อสายอังกฤษของเขาที่ชื่อ ซามูเอล อินซูลล์ นำเสนอผลงานประดิษฐ์ชิ้นใหม่ในชื่อ เอดิสันโฟโนกราฟ แต่ทว่าประธานาธิบดี เชสเตอร์ เอ. อาเทอร์ กลับเกลี้ยกล่อมให้เขาประดิษฐ์ยุทโธปกรณ์ทางการทหารแทน เขาจึงตอบประธานาธิบดีกลับไปว่า “ผมจะไม่มีวันประดิษฐ์สิ่งที่ใช้คร่าชีวิตของมนุษย์เป็นอันขาด”

เอดิสันเดินออกจากทำเนียบขาวโดยปราศจากเงินทุนใดๆ เขาจึงคิดค้นแผนการใหม่ นั่นก็คือการมอบแสงสว่างให้กับแมนฮัตตัน เขาจึงจัดตั้งบริษัทในเมืองนิวยอร์กด้วยชื่อ เอดิสันอิเลคทริค

ณ สถานีพิตต์สเบิร์ก เวสติงเฮ้าส์ได้เตรียมตัวต้อนรับเอดิสันและครอบครัว แต่เมื่อพวกเขาได้พบกัน พวกเขากลับมีปากเสียงและแยกทางกัน เมื่อเอดิสันกลับไปยังบ้านของเขาที่เมนโลพาร์ก เขาก็ได้รับข่าวดีอย่างหนึ่ง เจ.พี. มอร์แกน ตัดสินใจร่วมลงทุนในโปรเจกต์ของเขา

The Current War

ในขณะที่เอดิสันนำพาแสงสว่างมาสู่ท้องถนนในเมืองนิวยอร์ก ท่ามกลางกระแสเชยชมจากประชาชน เวสติงเฮ้าส์ได้วางแผนขยายเครือข่ายการใช้ไฟฟ้า เช่นเดียวกับผู้อพยพชาวเซอร์เบียนาม นิโคลา เทสลา เขาได้นำเสนอไอเดียเกี่ยวกับไฟฟ้ากระแสสลับให้กับเอดิสัน ยืนยันว่ากระแสไฟฟ้าประเภทนี้สามารถส่งออกไปได้ไกลกว่าไฟฟ้ากระแสตรง ถึงแม้ว่าไฟฟ้ากระแสสลับจะเป็นสิ่งที่เอดิสันเชื่อว่าอันตรายและคาดเดาไม่ได้ เขาก็ได้จ้างนิโคลาเอาไว้ด้วยเงินเพียง 10 เหรียญ ต่อสัปดาห์

ในขณะที่เอดิสันวางแผนที่จะขยายการใช้พลังงานไฟฟ้าสู่เมืองทั้งสิ้น 12 เมืองด้วยไฟฟ้ากระแสตรง เวสติงเฮ้าส์ก็ได้ประสบความสำเร็จในการส่งไฟฟ้ากระแสสลับออกไปได้ไกลนับไมล์ นำแสงสว่างมาสู่เมืองเกรตแบร์ริงตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ และทำให้คู่แข่งของเขาต้องหัวเสีย เพราะเวสติงเฮ้าส์ได้นำหลอดไฟ ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ของเขามาใช้ เทสลาได้เสนอแบบร่างมอเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ แต่เขากลับถูกปฏิเสธอย่างไร้ไร้เยื่อใย เอดิสันเชื่อมั่นว่าความคิดของเขาเท่านั้นที่ถูกต้อง และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เทสลาแยกตัวออกมาตั้งบริษัทของตนเองในชื่อ เทสล่าอิเล็กทริกซ์

เอดิสันตอบโต้เวสติงเฮ้าส์ด้วยการย่ำยีชื่อเสียงของเขาผ่านสื่อ เขาทำแม้กระทั่งการแกล้งเขาด้วยเครื่องโฟโนกราฟที่เขาประดิษฐ์ แต่การกระทำของเขากลับส่งผลให้เวสติงเฮ้าส์ยิ่งเพิ่มความพยายามมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม เขาได้จัดตั้งบริษัทเวสติงเฮ้าส์อิเล็กทริกซ์คอมพานีและจดสิทธิบัตรระบบไฟฟ้าของเขา เวสติงเฮ้าทส์ไม่ยอมแพ้ต่อศึกต่อสู้ครั้งนี้

สำหรับเอดิสันแล้ว วิธีการเดียวที่เขาคิดว่าจะกู้สถานการณ์นั้นได้ก็คือการเพิ่มความพยายามและบีบให้พนักงานของเขาทำงานกันหนักขึ้น แต่ในเวลาต่อมา ภรรยาของเขาก็ล้มป่วยและเสียชีวิต อัจฉริยะนักประดิษฐ์ผู้นี้ได้กลายเป็นคนซึมเศร้าหดหู่ หมกมุ่นอยู่กับแต่งานของเขา ในขณะที่คู่แข่งของเขาอย่างเวสติงเฮ้าส์ได้นำพาแสงสว่างไปสู่คนในเมืองต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้มอร์แกนแนะนำให้เขาเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ เอดิสันก็ยังยืนกรานต่อว่าเขาจะยังคงใช้ไฟฟ้ากระแสตรง… ซีแอตเทิล ฟอร์ทเวิร์ธ นิวออลีน เมืองแล้วเมืองเล่าได้เปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้ากระแสสลับในช่วงที่ร่างของ แมรี่ เอดิสัน ถูกฝัง และเงินของเขาก็เริ่มร่อยหรอขึ้นทุกที

ในปี 1893 ที่งานชิคาโก้เวิลด์แฟร์ เอดิสันและเวสติงเฮ้าส์ได้ประชันหน้ากันอีกครั้ง บุคคลทั้งสองมีความตั้งใจอย่างเดียวกัน พวกเขาต้องการนำแสงสว่างมาสู่งานอีเว้นท์ระดับโลก ทว่า ในระหว่างการประดิษฐ์ค้นคว้ามอเตอร์ที่ใช้ส่งเสริมระบบไฟฟ้าของเขา โป๊ป วิศวกรมือขวาของเวสติงเฮ้าส์ก็เสียชีวิต ข่าวลือเกี่ยวกับความอันตรายของไฟฟ้ากระแสสลับได้แพร่สะพัดอย่างรวดเร็ว หลังจากที่เขาเปิดอกคุยกับ มาร์กาเร็ต ภรรยาของเขา จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ ก็สามารถเอาชนะความสูญเสียนั้นและตัดสินใจที่จะเอาชนะสงครามกระแสไฟฟ้าครั้งนี้ให้จงได้

ในขณะนั้น เอดิสันได้ถือโอกาสนี้ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งเขาด้วยการประดิษฐ์เก้าอี้ไฟฟ้าที่ใช้มอเตอร์พลังงานไฟฟ้ากระแสสลับของเวสติงเฮ้าส์ กรณีนี้ได้ทำให้เวสติงเฮ้าส์ยื่นฟ้องเขา แต่เอดิสันกลับยืนยันว่า ถึงแม้ระบบไฟฟ้าของคู่แข่งเขาจะเป็นอันตราย มันก็ถือเป็นวิธีที่กรุณาที่สุดในการประหารนักโทษ ชายทั้งสองได้เผชิญหน้ากันในศาลของเมืองบัฟฟาโล

หลังจากที่เทสลาประสบความล้มเหลวในการตั้งบริษัทของตัวเองเพราะถูกนักธุรกิจหักหลัง เขาก็ได้พบกับเวสติงเฮ้าส์ในห้องโทรมๆ ของโรงแรมที่เขาพักอาศัยอยู่ ทั้งคู่พูดคุยกันอย่างถูกปากถูกคอ เทสลาเสนอแผนการผลิตพลังงานกระแสไฟฟ้าจากน้ําตกไนแองการ่า ทั้งสองได้จับมือร่วมกัน คนหนึ่งมีพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ อีกคนหนึ่งมีมอเตอร์ที่ใช้ประโยชน์จากพลังงานนั้น

นักสืบของเวสติงเฮ้าส์พบหลักฐานว่าเอดิสันมีส่วนในการทำลายชื่อเสียงของเวสติงเฮ้าส์ด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า เขาจึงทำการแฉเรื่องราวกลับ เวสติงเฮ้าส์ได้กลายเป็นผู้ที่นำพาแสงสว่างมาสู่เวิลด์แฟร์ กลายเป็นผู้ชนะของสงครามพลังงานครั้งนี้ ในขณะที่การประหารของฆาตกร วิลเลียม เคลมเมอร์ ด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าได้กลายเป็นประเด็นหลักในการพาดข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ ถึงแม้ว่าเวสติงเฮ้าส์จะได้รับชัยชนะ แต่ชื่อเสียงของเขาก็ยังคงไม่เป็นที่แพร่พลาย ส่วนผู้พ่ายแพ้อย่างเอดิสันก็ยังคงรักษาชื่อเสียงและความมุ่งมั่นในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เอาไว้ได้ เขาได้หันไปทุ่มเทให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่กำลังเริ่มเติบโต ก่อตั้งบริษัทเอดิสันโมชันพิกเจอร์ เขาได้จดสิทธิบัตรกล้องถ่ายภาพยนตร์เครื่องแรกของโลก ซิเนโตกราฟ และทำให้ภาพเริ่มเคลื่อนไหวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

การก่อสงคราม

The Current War

จุดประกาย…

“ที่ห้องนอนของผมในช่วงวัยเด็ก ผมมีโปสเตอร์ของ โทมัส เอดิสัน แปะไว้อยู่ที่กำแพงห้องนอนครับ” ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ไมเคิล มิทนิค กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ “ผมจำได้ว่าผมติดโปสเตอร์ใบนั้นเพียงเพราะว่าเอดิสันดูเหมือนนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องครับ” เมื่อเขาทำการศึกษาเรื่องราวของนักประดิษฐ์ผู้เลื่องชื่อคนนี้ เขาก็พบว่าชีวิตของเอดิสันนั้นมีมากกว่าการประดิษฐ์หลอดไฟและทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ “ผมพบกับเรื่องราวของสงครามกระแสไฟฟ้าระหว่างเอดิสันและนายทุนอย่าง จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ ที่กลายเป็นเหตุการณ์ตัดสินประเภทของกระแสไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้” มิทนิค กล่าว เรื่องราวที่เขาได้พบนั้นมีทั้งเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด ความโศกเศร้า และความพลิกผัน มันมีแม้กระทั่งการใส่ร้ายป้ายสีและการกำเนิดแบบลับๆ ของเก้าอี้ไฟฟ้าตัวแรกของโลก การตายอย่างโหดเหี้ยมทารุณ และการเผยตัวของนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะชาวเซิร์บ นิโคลา เทสลา “ผมยังจำได้ดีเลยครับ ตอนนั้นผมคิดอยู่ในหัวว่า ‘ทำไมผมถึงไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้เนี่ย’” เขารู้สึกประหลาดใจ “หลังจากนั้นก็เป็นการเริ่มต้นของการเขียนบทภาพยนตร์ที่ต้องใช้เวลาถึง 10 ปี มันได้เริ่มต้นจากการเป็นละครเพลง และจบลงด้วยการเป็นภาพยนตร์”


เชื่อมต่อวงจร…

“ผมได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้มาเป็นระยะเวลานานแล้วครับ มิทนิค กล่าว “ผมได้ศึกษาจากบันทึก หนังสือพิมพ์ และแหล่งที่มาอื่นๆ” สิ่งหลักๆ ที่เขาใช้ในการอ้างอิงถึงตัวละครหลักทั้ง 3 คน ก็คือหนังสือ 3 เล่ม ได้แก่ ‘Thomas Alva Edison’ ของ ฟรังซิส โจน ‘A life Of George Westinghouse’ ของ เฮนรี่ จี เพร้าท์ และอัตชีวประวัติของนิโคลา ‘My Inventions’”

“แม้ว่าภายนอกมันอาจจะดูเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และความทะเยอทะยาน แต่ลึกๆ แล้วมันแฝงไปด้วยอารมณ์มากมายครับ” มิทนิค กล่าว

เปิดสวิตช์ไฟ…

“ผมได้พบกับผู้กำกับอัลฟอ3โซ่ที่บาร์ในแมนฮัตตันครับ” มิทนิค กล่าว “พวกเราได้คุยกันว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เราสนใจเรื่องนี้เหมือนกัน และเราก็ได้ข้อสรุปว่าคนเหล่านี้ได้ทำให้โลกของเราเปลี่ยนไปตลอดกาล เราอาจจะเคยคิดว่า โทมัส เอดิสัน เป็นเพียงคนที่ไว้ทรงผมเหมือน เบนจามิน แฟรงคลิน และคิดค้นหลอดไฟ แต่แท้จริงแล้ว สิ่งที่พวกเขาคิดค้นก็คือวิธีคิดต่างหาก พวกเขาสอนให้รู้ว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องเล่นตามกฎอยู่เสมอไป”

“สิ่งที่อัลฟอน3ซ่เคยบอกผมก็คือ นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์เกี่ยวกับอดีต มันคือภาพยนตร์เกี่ยวกับอนาคตต่างหาก” ไมเคิล แชนนอน ผู้รับบท จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ กล่าว “ผมคิดว่านั่นเป็นมุมมองที่เจ๋งมากๆ เลยครับ”

ตัวละคร

โทมัส เอดิสัน (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์)

THE CURRENT WAR
สงครามไฟฟ้า คนขั้วอัจฉริยะ
วันเข้าฉาย 11 กรกฎาคม 2562

ผู้ที่รับบทเป็น โทมัส อัลวา เอดิสัน ก็คือ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมสร้างตั้งแต่ก่อนที่อัลฟองโซ่จะมาคุมการกำกับเสียอีก เขาได้หลงในเสน่ห์ของบทภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงฉากเปิด ในฉากนั้น เอดิสัน ผู้ได้รับสมญานาม ‘พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก’ ได้ทำให้สวนสาธารณะภายในมหานครนิวยอร์กสุกสกาวด้วยหลอดไฟที่ประดับเรียงราย “ภาพที่คุณเห็นจะมีเพียงฝูงชนที่สวมเสื้อขนสัตว์และหมวกทรงสูงที่เปื้อนดินโคลน” คัมเบอร์แบตช์ กล่าว “หลังจากนั้นคุณก็จะเห็นแสงไฟของซิการ์จากระยะไกล เพียงแค่การสับสวิตช์ หลอดไฟเหล่านั้นก็ส่องสว่างราวกับมีชีวิตขึ้นมา มันเปรียบเสมือนมนุษย์ที่เอาเงินมาถมลงบนกองดินกองโคลนเพื่อเล่นเป็นบทของพระเจ้า เขาได้สร้างแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิด” มันเป็นฉากเปิดที่ทำให้เขารู้สึกพิศวง

สำหรับอัลฟองโซ่แล้ว เขามีความเห็นว่าไม่มีนักแสดงคนไหนที่เหมาะสมกับการรับบท เอดิสัน มากกว่ากว่า คัมเบอร์แบตช์ อีกแล้ว “เขาเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของผมเลยครับ” เขากล่าว “เขาเป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น ให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา และเขาก็ยังสามารถแสดงให้เห็นถึงด้านมืดของเอดิสันได้อย่างง่ายดาย”

ก่อนการรับบทในภาพยนตร์เรื่องนี้ คัมเบอร์แบตช์รู้จักเอดิสันเพียงแค่ผิวเผิน แต่เมื่อเขาได้ศึกษาประวัติจริงๆ ของเอดิสัน เขาก็พบว่าตัวตนที่แท้จริงของเอดิสันนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าที่เขาเคยคิดไว้ “ผมเคยเชื่อว่าเขาเป็นสุดยอดนักประดิษฐ์ของอเมริกาในยุคสมัยใหม่ครับ” เขากล่าว “แต่ในความเป็นจริง เขาไม่ใช่คนที่ยิ่งใหญ่ และก็ไม่ใช่คนที่ด้อนค่าครับ”

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้การแสดงเป็นเอดิสันกลายเป็นเรื่องท้าทายก็คือ อาการได้ยินเขาเขาที่ค่อยๆ เสื่อมไปตามกาลเวลา “ในช่วงท้ายของภาพยนตร์ หูข้างซ้ายของเขาก็ได้หนวกไปแล้ว ส่วนหูอีกข้างก็แทบจะไม่ได้ยินอะไรแล้วเช่นกัน” คัมเบอร์แบตช์ อธิบาย “เบเนดิกต์ต้องการทราบว่า อาการหูหนวกของเอดิสันในช่วงปีที่เขาต้องเข้าสวมบทบาทนั้นรุนแรงขนาดไหนแล้ว” มิทนิค เสริม “นักประวัติศาสตร์ พอล อิสราเอล ยืนยันว่า ถึงแม้เอดิสันจะกำลังสูญเสียการได้ยิน เขาก็จะไม่พูด ‘หา?’ หรือ ‘หือ?’ ในทุกประโยค และถ้าคุณสังเกตุหนังของพวกเราดีๆ คุณก็จะเห็นเบเนดิกต์ต้องเงี่ยหูฟังเล็กน้อยในขณะสนทนาด้วย”

หลังจากการศึกษาค้นคว้าตัวละครของเขา ประกอบกับการปรึกษากับผู้กำกับอัลฟองโซ่ เขาก็ได้ข้อสรุปว่า “The Current War” นั้นไม่มี ‘คนร้าย’ หรือ ‘คนดี’ “ผมไม่ได้พูดเข้าข้างใครคนใดคนหนึ่งนะครับ ผมคิดว่า จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ นั้นเป็นเหมือนเต่าเชื่องๆ ที่กำลังวิ่งแข่งกับเอดิสัน ที่เป็นกระต่ายปากมาก ส่วนเทสลา นั้นเป็นผู้ดูแลการแสดงครั้งนี้ ผมเลิกตัดสินพวกเขา และเลือกที่จะดำดิ่งลงไปในโลกของเอดิสันแทนครับ”


ความอยากเอาชนะของเอดิสันนั้นเป็นเรื่องจริง เช่นเดียวกันกับนิสัยที่ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ ความกระหายในการเอาชนะทำให้เขาละเมิดกฎเหล็กที่ตัวเขาเป็นคนตั้งเอาไว้เอง นั่นก็คือ ‘การไม่ขอมีส่วนร่วมในการพรากชีวิตผู้คน’ “มันเป็นเรื่องน่าขัน เพราะเอดิสันได้สร้างเก้าอี้ไฟฟ้าขึ้นมาเพื่อหวังเอาชนะในสงครามกระแสไฟฟ้าครับ” ผู้อำนวยการสร้าง เบซิล อิวานิค กล่าว “เอดิสันสูญเสียความเชื่อที่เขายึดมั่นเอาไว้ตั้งแต่ช่วงต้นของเรื่อง และเขาก็เดินไปในทางที่ผิดครับ”

คัมเบอร์แบตช์ อธิบายว่าเอดิสันนั้นไม่ใช่คนเลว เขาเป็นเพียง “ฮีโร่ตกกระป๋อง” ในภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น “มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายที่เปรียบเสมือนพระเจ้าของวงการสิ่งประดิษฐ์ เหมือน สตีฟ จ็อบส์, บิล เกตส์ หรือ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่ถึงคราวที่ต้องเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ครับ แต่ถึงกระนั้น แม้ว่าเขาจะพ่ายแพ้ เขาก็ลุกขึ้นมาปัดฝุ่นตัวเอง แล้วก็ออกเดินทางต่อเพื่อค้นหาขุมสมบัติแหล่งต่อไป ความคิดในหัวของเขาไม่ได้หยุดนิ่งเพียงเพราะการต่อสู้ครั้งนี้ เขายังคงเดินหน้าต่อไปได้ เอดิสันเป็นชายที่น่าทึ่ง และเขาก็มีข้อผิดพลาดเหมือนกับมนุษย์ปกติครับ”


จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ (ไมเคิล แชนนอน)

THE CURRENT WAR
สงครามไฟฟ้า คนขั้วอัจฉริยะ
วันเข้าฉาย 11 กรกฎาคม 2562

สำหรับบทของ จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ อัลฟองโซ่ได้เลือกนักแสดงที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ไมเคิล แชนนอน “ผมเป็นแฟนที่ติดตามผลงานของเขามาหลายปีแล้วครับ หากเขาได้แสดงในบทถนัด เขาก็คงแสดงได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ทว่าเขาไม่เคยรับบทแบบนี้มาก่อน และผมก็รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นเขาแสดงในบทที่ผมเองก็ไม่เคยเห็นมาก่อนด้วยครับ”

อัลฟองโซ่พบกับแชนนอนครั้งแรกที่ร้านกาแฟใจกลางเมืองบรู๊คลินเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับบทของเขา “ผมบอกเขาว่าผมไม่ได้มีความสุขกับการเล่นหนังซธเท่าไร แล้วก็คิดอยากจะหยุดแสดงมาหลายครั้งแล้วด้วยครับ” แชนนอน กล่าว “แต่เขาก็บอกผมว่า เขายังคงอยากให้ผมรับบทเป็น จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ อยู่ดี” อัลฟองโซ่มีไพ่ตายอยู่ นั่นก็คือหนังสือเก่าแก่เล่มหนึ่งที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเวสติงเฮ้าส์ เขาหยิบมันมาวางบนโต๊ะแล้วเลื่อนไปให้แชนนอน “มันไม่ใช่หนังสืออัตชีวประวัติครับ” แชนนอน กล่าว “มันเป็นเหมือนหนังสือรวมรวมคำสรรเสริญที่มีต่อความดีงามของเวสติงเฮ้าส์ สำหรับเขาแล้ว หนังสือเล่มนี้มันก็คือเหยื่อล่อชั้นดี เมื่อเขาเดินออกไปจากร้าน ผมจึงนึกขึ้นได้ว่า ‘นี่ผมต้องหาทางคืนหนังสือเล่มนี้ให้เขาใช่มั้ยเนี่ย เพราะมันดูแล้วน่าจะเป็นหนังสือที่มีคุณค่าอยู่ไม่น้อยเลย’”

“นั่นไม่ใช่กลอุบายครับ” อัลฟองโซ่ กล่าวพร้อมรอยยิ้ม “ผมไม่ใช่คนที่เจ้าเล่ห์ขนาดนั้น ผมพบหนังสือเล่มนั้นโดยบังเอิญบน eBay มันเป็นหนังสือปกหนังที่มาพร้อมภาพถ่ายหายากของเวสติงเฮ้าส์ มันเป็นวัตถุที่ล้ำค่าและจับต้องได้ ผมอยากจะให้ไมเคิลได้อ่านหนังสือเล่มนี้ และถ้าการแบ่งปันนี้ได้สร้างความประทับใจให้กับเขา นั่นก็เป็นเรื่องที่ผมรู้สึกยินดีครับ”

ต่างจากสิ่งที่เอดิสันทำ เวสติงเฮ้าส์ไม่ได้หวังสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง “เขาไม่เคยนำเอาชื่อของเขาใส่ลงไปในสิ่งประดิษฐ์ครับ” ผู้อำนวยการสร้าง อิวานิค กล่าว “ในทางตรงกันข้าม เอดิสันได้นำชื่อของเขาใส่ลงไปในสิ่งประดิษฐ์ของผู้อื่น” จวบจนถึงปัจจุบัน มีเพียงรูปถ่ายของเวสติงเฮ้าส์เพียง 13 รูป เท่านั้นที่ยังคงอยู่รอดผ่านการกัดกร่อนของกระแสกาลเวลามาได้ เขาเป็นคนที่เผารูปและเอกสารเกี่ยวกับตัวเขาเองก่อนที่จะสิ้นลมหายใจในปี 1914 และมันก็ทำให้ชื่อเสียงของเขาค่อยๆ เลือนลางหายไป “คนส่วนมากคิดว่าเขาเป็นเพียงนักประดิษฐ์คนหนึ่งเท่านั้น” แชนนอน กล่าว “แต่ถึงกระนั้น ชื่อของเขาก็ยังคงสืบทอดกันมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้ และผมก็พึ่งพบกับชื่อของเขาในหนังสือพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ด้วย”

“ไมเคิลเป็นนักแสดงที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับเบเนดิกต์ครับ ทั้งวิธีคิดและการกระทำ เสมือนกับคนหนึ่งเป็นกระแสตรง อีกคนหนึ่งเป็นกระแสสลับ มันทำให้รู้สึกตื่นเต้นมากๆ ครับ” อัลฟองโซ่ กล่าว “ทั้งสองคนเป็นนักแสดงที่ผมเชื่อมั่นครับ”

ในชีวิตจริงนั้น เอดิสันและเวสติงเฮ้าส์ แทบจะไม่ได้พบหน้ากันเลย และนั่นก็เป็นเช่นเดียวกันกับนักแสดงทั้งสองคนนี้ในกองถ่าย มิทนิคได้ทำเรื่องท้าทายโดยการให้นักแสดงทั้งสองได้มีโอกาสพบหน้ากันเพียง 2 ครั้ง เท่านั้นคลอดช่วงการถ่ายทำ “ผมได้เลียนแบบสิ่งที่ ไมเคิล แมนน์ ทำใน ‘Heat’ โดยเขาให้คนที่เกลียดกัน 2 คนไม่พบกับในกองถ่ายเลย จนกระทั่งช่วงสุดท้ายของเรื่อง” เขาอธิบาย

นิโคลา เทสลา (นิโคลัส โฮลท์)

นิโคลัส โฮลท์ (นิโคลา เทสลา)

บทบาทของนักประดิษฐ์อัจฉริยะชาวเซิร์บ นิโคลา เทสลา ผู้ตัดสินผลแพ้ชนะของสงครามกระแสไฟฟ้านั้นรับบทโดย นิโคลัส โฮลท์ “หลังจากที่ผมได้อ่านบทเป็นครั้งแรก สิ่งที่ผมคิดก็คือ ‘ว้าว! นี่ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยนะเนี่ย!’” โฮลท์ กล่าว “เวสติงเฮ้าส์และเทสลาเป็นคนที่ทำให้เราได้ใช้กระแสไฟฟ้าในทุกวันนี้ และผมก็เคยจำผิดๆ มาตลอดว่าคนๆ นั้นคือเอดิสัน มันทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ครับ”

โฮลท์ได้เตรียมตัวรับบทของเทสลาด้วยการศึกษาหนังสืออัตชีวประวัติของเขา “เขาเป็นคนที่น่าทึ่งมากครับ” โฮลท์ กล่าว “เขาเป็นคนที่ไม่เหมือนใคร มันราวกับว่าเขาเป็นคนที่มาจากคนละช่วงเวลา ราวกับเขาสามารถมองเห็นอนาคตได้” คัมเบอร์แบตช์ ได้พูดเน้นในจุดนี้ว่า “ในท่ามกลางอัจฉริยะกลุ่มนี้ เทสลามาเป็นอันดับที่ 1 ครับ” เขากล่าว “ถ้าหากเอดิสันและเวสติงเฮ้าส์สามารถมองเห็นอนาคตในช่วงระยะเวลา 10 ปี ได้ เทสลาก็สามารถมองเห็นอนาคตในช่วงระยะเวลาได้ถึง 100 ปี ครับ”

เพื่อการเตรียมตัวรับบทบาทของนิโคลา โฮลท์ได้เรียนรู้ทักษะอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครคาดคิดถึง นั่นก็คือทักษะการแทงพูลอันรวดเร็ว ซึ่งเป็นหนึ่งในความชอบส่วนตัวของเทสลาที่มีบันทึกเอาไว้ “ผมต้องเข้ารับการฝึกครับ เพราะเทสลาเป็นคนที่มีฝีคิวเฉียบมากๆ คนหนึ่ง” โฮลท์ กล่าว แต่ถึงกระนั้น แม้แต่โค้ชของเขาก็ยังจนปัญญาเมื่อเขาต้องเข้ากองถ่าย “ผมยังจำได้ดีว่า ไมเคิล (ผู้รับบทเป็น เวสติงเฮ้าส์) ได้แทงอยู่ 2-3 ไม้ ตอนที่เรากำลังซ้อมกัน ฝีมือของเขานั้นถึงขนาดที่ทำให้ผมต้องตะโกนออกมาในใจว่า ‘หมอนี่มันเก่งว่ะ!’ ผมไม่มีความมั่นใจเลยว่าผมจะเล่นสูสีกับเขาได้ ถึงแม้ว่าผมจะมีโค้ชหนุนหลังอยู่ก็ตาม”

นอกจากนั้นแล้ว พวกเขาก็ยังต้องทำการบ้านวิทยาศาสตร์ด้วย “เบเนดิกต์และผมต้องเข้าเรียนคอร์สวิทยาศาสตร์ครับ” โฮลท์ กล่าว “พวกเราเริ่มจากการตั้งคำถามที่ยากเกินความเข้าใจของพวกเรา จากนั้นเราจึงไล่ทำความเข้าใจกลับมาเรื่อยๆ จนเราได้ค้นพบคำตอบ” เพียงแค่เวลาไม่กี่ชั่วโมง นักแสดงทั้งสองก็สามารถพูดคุยกันด้วยศัพท์ทางเทคนิคได้อย่างคล่องแคล่ว “สิ่งสำคัญก็คือ คุณต้องรู้ความหมายของสิ่งที่คุณพูดออกไปครับ” โฮลท์ กล่าว

การสร้างโลก

สถานที่ถ่ายทำ

ในแผนการเดิมนั้น “The Current War” ถูกกำหนดให้ถ่ายทำในอเมริกา โดยใช้สถานที่รอบข้างบ้านเกิดของเวสติงเฮ้าส์อย่างเมืองพิตต์สเบิร์ก แต่ในช่วงฤดูร้อนปี 2016 ผู้กำกับอัลฟองโซ่ได้เดินทางไปค้นหาสถานที่ถ่ายทำที่ประเทศอังกฤษ แล้วเขาก็รู้สึกถูกอกถูกใจที่นั่นทันที “พวกเราสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องการได้ที่ประเทศอังกฤษครับ” เขากล่าว “ผมตกหลุมรักกรุงลอนดอนในระหว่างการค้นหาสถานที่ กลุ่มนักแสดงก็ดูดี ทุกอย่างมันดูลงตัวไปหมดเลยครับ”

สถานที่ถ่ายทำของฉากเปิดตัวภาพยนตร์ตั้งอยู่ที่มุมๆ หนึ่งที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองลีฟส์เดน ในขณะที่บ้านของเอดิสันนั้นถูกสร้างขึ้นภายในสตูดิโอ “พวกเราได้เช่ารถไฟที่อยู่ในสภาพย่ำแย่จากโรงจอดรถไฟบลูเบลที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ เมืองไบรตัน และเราก็นำมันมาบูรณะใหม่” นักออกแบบงานสร้างผู้เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ (Gattaca) แจน โรฟส์ กล่าว “เราใช้รถไฟคันนั้นถ่ายทำรถไฟทั้ง 3 ขบวนในภาพยนตร์ เาทำการเปลี่ยนของตกแต่งภายใน เปลี่ยนสีของผนังรถ เจาะช่องบนผนังให้อุปกรณ์ถ่ายทำของเราสามารถเข้าไปได้ และตบแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์จนกระทั่งพวกเราพึงพอใจกับรูปลักษณ์ครับ”

สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี่อยู่ที่การจำลองฉากอันสุดแสนตระการตาของชิคาโกเวิลด์แฟร์ มหกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกที่จัดติดต่อกันยาวนานถึง 5 เดือน ในช่วงปี 1893 รวบรวมนวัตกรรมต่างๆ ที่สำคัญเอาไว้ อย่างเช่น ซิบ หมากฝรั่งริกลี่ย์ ขนมแครกเกอร์แจ็ค และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ไฟฟ้ากระแสสลับของเวสติงเฮ้าส์ “เวิลด์แฟร์เป็นงานที่ดูบ้ามากๆ ครับ” ผู้อำนวยการสร้างอิวานิค กล่าว “ที่นั่นมีช้างอยู่เต็มไปหมด มีสิ่งประดิษฐ์แปลกๆ มากมาย และเราก็ต้องทำให้มันดูยิ่งใหญ่ด้วย เราได้ลงทุนกับฉากนี้ไปเยอะมากครับ”

เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย

The Current War

ผู้ที่รับหน้าที่ออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับยุคสมัยที่การแต่งกายดูมีความเป็นเอกลักษณ์ก็คือ นักออกแบบเสื้อผ้าผู้เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ไมเคิล วิลคินสัน (American Hustle, Man Of Steel) ผู้กำกับอัลฟองโซ่รู้สึกถูกชะตากับความคิดสร้างสรรค์ของเขา “ไอเดียของอัลฟองโซ่นั้นทำให้ผมรู้สึกสนใจเป็นอย่างมากครับ” เขากล่าว “มันเป็นการเล่าเรื่องเกร็ดย่อยของประวัติศาสตร์ด้วยวิธีที่ทันสมัย ตื่นเต้น และน่าติดตามครับ”

“ภาพยนตร์ถ่ายทอดเรื่องราวในช่วง 13 ปี ตั้งแต่ 1880 ถึง 1893 ดังนั้นตัวละครแต่ละคนจึงมีชุดเสื้อผ้ากันอยู่ค่อยข้างเยอะเลยล่ะครับ” วิลคินสัน กล่าว “แล้วนอกจากนี้ เราก็ยังมีเหล่านักแสดงสมทบและนักแสดงประกอบอีกประมาณ 100 ชีวิตด้วยครับ” แม้ว่าพวกเขาจะสามารถติดต่อผู้ขายชุดสไตล์วิคตอเรียได้ แต่ชุดเหล่านั้นส่วนมากก็ได้ถูกนำมาใช้ในการอ้างอิงเท่านั้น พวกเขายังคงต้องตัดเย็บชุดกันเองอยู่ดี

ภาพวาดและภาพถ่ายของเอดิสันในชุดทำงานนั้นสามารถพบได้เป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่พวกเขาอยากได้นั้นคือเอดิสันในเสื้อผ้าปกติมากกว่าเอดิสันในชุดทำงานหรือออกงานสังสรรค์ “เราต้องการแสดงภาพลักษณ์ของเอดิสันที่ไม่เคยมีใครได้เห็นมาก่อนครับ” วิลคินสัน อธิบาย “ซึ่งภาพเหล่านี้มีค่าสำหรับพวกเรามาก มันแสดงให้เห็นถึงชายคนหนึ่งที่ตั้งใจจะเป็นพ่อคน ชายที่พยายามรักษาสายสัมพันธ์กับภรรยาของเขา เราตั้งใจที่จะแสดงให้ทุกคนเห็นถึงอีกด้านของอัจฉริยะผู้นี้ครับ”

ในส่วนของเวสติงเฮ้าส์นั้น เสื้อผ้าของเขาถูกออกแบบมาให้ดูเหมือนว่า เขากำลังพยายามปกปิดบางสิ่งบางอย่างเอาไว้ “ผมอยากจะแสดงให้เห็นว่า ภายใต้ภาพลักษณ์ภายนอกของชายผู้นี้ เขาเป็นคนที่มีไฟ มีแรงผลักดันอันมหาศาลแฝงเร้นอยู่” วิลคินสัน อธิบาย “วิลคินสันทำหน้าที่ได้อย่างไร้ที่ติเลยครับ” แชนนอน ยืนยัน “ผมชอบชุดเสื้อผ้าทั้งหมดที่เขาเป็นคนออกแบบครับ” แต่ถึงกระนั้นก็มีส่วนหนึ่งที่เจ้าตัวยอมรับว่าเขาไม่ชอบ “ผมไม่ใช่คนที่ชื่นชอบชุดทักซิโด้เลยครับ มันเป็นชุดที่หนามาก แล้วคุณก็ยังต้องกลัดกระดุมของชุดด้วยหมุดอีก”

การทำงานร่วมกับนักแสดงนำทั้งสองเป็นประสบการณ์ที่วิเศษมากสำหรับวิลคินสัน “เบเนดิกต์เป็นคนที่มีส่วนร่วมในการเลือกเนื้อผ้า การกำหนดโครงเสื้อผ้า และลายละเอียดของผ้าที่เสื่อมไปตามกาลเวลา ทุกลายละเอียดล้วนมีความสำคัญมากๆ สำหรับเขาคนนี้ เขาเป็นคนที่ชอบการค้นหาภาพลักษณ์เบื้องหลังของคนที่อยู่ในภาพวาดครับ” ในส่วนของแชนนอนนั้น เขากลับปฏิบัติไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม “เขาเชื่อมั่นการตัดสินใจของผมและมีส่วนร่วมในการออกแบบชุดน้อยกว่าครับ” วิลคินสัน กล่าว “แต่เขาก็ยินดีที่จะรับฟังคำแนะนำของผมนะครับ”

ในส่วนของเทสลานั้น “อัลฟองโซ่บอกว่า เขาเป็นคนคนติดดินครับ” วิลคินสัน กล่าว “เขาเป็นคนที่แต่งกายได้ธรรมดาสุดๆ เช้ามาก็แค่ใส่เสื้อโค้ท หมวก แล้วก็ถุงมือ ส่วนเอดิสันนั้นมีชื่อเสียงด้านการแต่งตัวที่ดูอู้ฟู่” นิโคลัส โฮลท์ รู้สึกประทับใจกับชุดของเขาเป็นอย่างมาก “วิลคินสันแสดงฝีมือได้ดีมากครับ เขาสามารถตัดชุดสูทอันสวยและสง่างามเหล่านี้ให้สามารถเข้ากับตัวละครทุกตัวได้อย่างเหมาะเจาะ”

ทีมนักแสดง

เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (โทมัส เอดิสัน)

เขาคือนักแสดงผู้เป็นที่รู้จักกันดีในบทบาทของ “เชอร์ล็อค โฮล์มส์” ในผลงานทีวีซีรีย์ Sherlock ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือนิยายของ เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ และมันก็ยังทำให้เขาได้รับรางวัลต่างๆ นาๆ รวมถึงรางวัล Emmy ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ในปี 2014 อีกด้วย

ในปี 2015 เบเนดิกต์ได้รับบทเป็น อลัน ทูริ่ง ใน “The Imitation Game” ภาพยนตร์ที่สามารถกวาดรางวัลมาได้อย่างล้นหลาม และทำให้เขาได้เข้าชิงรางวัลในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในงานสำคัญอย่าง BAFTA ลูกโลกทองคำ และออสการ์

ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องอื่นๆ ที่เขาแสดงนั้นรวมถึง “The Hobbit” ของ ปีเตอร์ แจคสัน “Star Trek: Into Darkness” ของ เจ.เจ. อับรามส์ “August: Osage County” ของ จอห์น เวลส์ “12 Years A Slave” ของ สตีฟ แม็คควีน

ล่าสุดเขาได้รับบทเป็น สตีเฟน สเตรนจ์ ใน “Doctor Strange” จาก Marvel Comics และยังรวมถึง “Avengers: Infinity War” ด้วย

ไมเคิล แชนนอน (จอร์จ เวสติงเฮ้าส์)

ไมเคิล แชนนอน คือนักแสดงที่ได้สร้างปรากฎการณ์มาแล้วมากมายในวงการบันเทิง เคยร่วมงานกับเหล่านักแสดงและผู้กำกับชั้นนำมาแล้วเป็นจำนวนมาก รวมถึงการได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 2 ครั้ง

แชนนอนได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเขาเองเป็นอย่างมากในปี 2008 จากบทบาทของ จอห์น กีฟวิ่งส์ ใน “Revolutionary Road” ที่กำกับโดย แซม เมนเดส เขาได้แสดงเคียงข้างกับ ลีโอนาโด ดิคาปริโอ, เคท วินสเล็ต และ เคธี่ บาเทส การแสดงของเขาทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรกในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

ในปี 2016 แชนนอนได้แสดงในภาพยนตร์ของ ทอม ฟอร์ด “Nocturnal Animals” ซึ่งดัดแปลงมาจากหนังสือนิยายของ ออสติน ไรท์ โดยเขาได้แสดงร่วมกับนักแสดงอย่าง เจค จิลเลนฮาล, เอมี่ อดัมส์ และ อารอน เทเลอร์ จอห์นสัน การแสดงอันยอดเยี่ยมสมบทบาทของแชนนอนทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Critics Choice และรางวัลออสการ์ ในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

ผลงานด้านภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาประกอบไปด้วย “The Shape of Water”, “Frank & Lola”, “12 Strong”, “Elvis & Nixon”, “Batman v Superman: Dawn of Justice”, “The Night Before”, “Man of Steel”, “The Iceman”, “99 Homes”, “Machine Gun Preacher”, “Bad Boys II”, “8 Mile”, “Vanilla Sky” และ “Pearl Harbor”

นิโคลัส โฮลท์ (นิโคลา เทสลา)

เขาคือหนึ่งในนักแสดงฮอลลีวูดที่คนต้องการตัวมากที่สุด เป็นที่รู้จักทั้งในบทบาทการแสดงภาพยนตร์แฟรนไชส์บล็อกบัสเตอร์อย่าง X-Men และโปรเจกต์ภาพยนตร์อิสระอย่าง “A Single Man”

ในปี 2017 เขาได้ปรากฎในภาพยนตร์ดราม่าสงครามอิรัก “Sand Castle” ที่อำนวยการสร้างโดย มาร์ก กอร์ดอน สร้างจากเรื่องจริงของพลยิงปืนกลที่อยู่ในเขตของนิกายสุหนี่ ในปี 2015 เขาได้รับบทในภาพยนตร์ที่ได้กวาดรางวัลออสการ์มาถึง 6 สาขา “Mad Max: Fury Road” ภายใต้การกำกับของ จอร์จ มิลเลอร์ เขาแสดงเป็น นัค หนึ่งในวอร์บอยที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก เขาได้แสดงร่วมกับ ชาร์ลิซ เธอรอน และ ทอม ฮาร์ดี

นอกจากนี้แล้ว เขายังได้รับบทเป็น แฮงค์ แมคคอย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ ‘บีสต์’ จากแฟรนไชส์ X-Men เขาได้ปรากฎตัวมาแล้วถึง 3 ภาค “X-Men: First Class”, “X-Men: Days of Future Past” และ “X-Men Apocalypse” แสดงร่วมกับ ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์, เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ และ เจมส์ แม็คอะวอย นอกจากนี้แล้วเขายังได้แสดงร่วมกับ คริสเตน สจ๊วต ใน “Equals” ภาพยนตร์รักภายในโลกแห่งอนาคต โลกที่อารมณ์ทั้งหมดของมนุษย์ถูกขจัดสิ้น

ในปี 2013 โฮลท์ได้รับบทเป็นซอมบี้ “อาร์” ในภาพยนตร์ของ โจนาธาน เลวีน “Warm Bodies” ซอมบี้ที่ค่อยๆ กลับกลายเป็นมนุษย์อีกครั้ง หลังจากที่เขาได้สัมผัสถึงความรักที่เขามีให้กับหญิงสาวที่เขาจับตัวมา

ผลงานเรื่องอื่นๆ ของเขาประกอบไปด้วย “A Single Man”, “About A Boy”, Jack the Giant Slayer”, “Young Ones”, “Kill Your Friends”, “Dark Place

Facebook Comments
ติดต่อ Maganetthailand.com
Don`t copy text!